เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 7. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ คือ
ธรรมเนียมของชาวบ้าน ... ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า
เมถุนธรรม1 มุนี ไม่พึงเสพ คือ ไม่พึงเสพเป็นนิจ ไม่พึงซ่องเสพ ไม่พึงเสพเฉพาะ
ไม่พึงประพฤติ ไม่พึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ไม่พึงสมาทานประพฤติซึ่งเมถุนธรรม
รวมความว่า ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[57] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นแหละ เพราะการประพฤติวิเวกนี้
เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน
คำว่า วิเวก ในคำว่า พึงศึกษาวิเวกนั่นแหละ ได้แก่ วิเวก 3 อย่าง คือ
1. กายวิเวก 2. จิตตวิเวก
3. อุปธิวิเวก
กายวิเวก เป็นอย่างไร ... นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก2
กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตตวิเวก
ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิวิเวกย่อมมีแก่
บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
คำว่า ศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา ... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 50/172
2 ดูรายละเอียดข้อ 7/32-34

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :191 }